สวัสดีครับ วันนี้พวกเรา เรซูเม่อินไทย ก็มาแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการเขียนเรซูเม่ และการสมัครงานกันเช่นเคย ช่วงที่ผ่านมามีผู้สมัครงานหลายท่าน ทั้งที่เพิ่งจบใหม่ และมีประสบการณ์กันมาอย่างโชกโชนแล้วก็ตาม ถามคำถามหนึ่งกับพวกเราอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ วิธีเขียนเรซูเม่สมัครงาน อย่างไรให้โดนใจ HR (ฝ่ายสรรหาบุคลากรของบริษัท) เพื่อให้การสมัครงานของคุณราบลื่น ได้เปรียบคู่แข่ง และได้งานที่ฝันเอาไว้ พวกเราจะมาตอบคำถามนี้กันในวันนี้อย่างละเอียดครับ
ทำความรู้จักกับเรซูเม่ (Resume)
เรซูเม่ (Resume) คือเอกสารสรุปประวัติการทำงานส่วนบุคคล โดยเน้นให้สั้น กระชับ และครบถ้วน เพื่อใช้ในการสมัครงาน ส่วนมากจะมีความยาวเพียง 1-2 หน้ากระดาษเท่านั้น ในเรซูเม่จะเขียนถึงประวัติการทำงาน ประวัติการศึกษา จุดมุ่งหมายในการทำงาน และความรู้ความสามารถสำคัญที่มีประโยชน์ต่อตำแหน่งงานที่สมัคร ทำให้ HR สามารถทำความรู้จักกับผู้สมัครงานได้ในระยะเวลาสั้น ๆ
เวลาสมัครงานเราจะส่งเรซูเม่ของเราให้กับ HR บริษัท เพื่อให้ HR สามารถทำความรู้จักกับเราได้อย่างคร่าว ๆ ว่าเรามีความใกล้เคียงเหมาะสมกับตำแหน่งงานว่างนั้น ๆ ขนาดไหน และถ้ามีความใกล้เคียงก็จะเรียกเข้าไปสัมภาษณ์งานเพื่อเจาะลึกอีกทีหนึ่ง ดังนั้นเรซูเม่ที่ดีจึงจะต้องเป็นเรซูเม่ที่ทำให้ HR เห็นภาพรวมของเราได้นั่นเอง
เรซูเม่อินไทย ได้สรุปเทคนิควิธีเขียนเรซูเม่ ที่โดนใจ HR ออกมาเป็นข้อๆ โดยละเอียดตามนี้ครับ
1. บริหารข้อมูลในเรซูเม่ให้ดี
เรซูเม่เป็นเอกสารสรุป ที่มุ่งเน้นให้ HR สามารถมองปราดเดียวแล้วเข้าใจได้ภายในหนึ่งนาทีว่าตัวเราเป้นใคร จบอะไร ทำอะไรมา ถนัดด้านไหน เรซูเม่ที่ดีจึงควรจะต้องเขียนให้จบได้ภายใน 1-2 หน้ากระดาษเท่านั้น การเขียนเรซูเม่ให้ดีจึงเป็นการแสดงความสามารถในการสรุปใจความของเรา ให้ HR ได้เห็นผ่านผลงานของเรา ซึ่งก็คือตัวเรซูเม่นี้ ถ้าใครยังมองไม่เห็นภาพรวมนัก ลองแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วน ๆ ตามไกด์ไลน์นี้ดูสิครับ
บัณฑิตจบใหม่
- ข้อมูลส่วนตัว 10% (ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ รูปถ่าย)
- ประสบการณ์ฝึกงาน 30%
- การศึกษา 30%
- สกิลต่าง ๆ 10% (ความสามารถด้านภาษา คอมพิวเตอร์ ซอฟท์สกิล ฯลฯ)
- กิจกรรมตอนเรียน 20%
ผู้สมัครงานมีประสบการณ์ทำงานแล้ว
- ข้อมูลส่วนตัว 10% (ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ รูปถ่าย)
- ประสบการณ์ทำงาน 60%
- การศึกษา 10%
- สกิลต่าง ๆ 20% (ความสามารถด้านภาษา คอมพิวเตอร์ ซอฟท์สกิล ฯลฯ)
2. พื้นที่ว่าง คือการเปิดเผยจุดอ่อนของตัวเอง เลี่ยงไว้เป็นดี
การกรอกข้อมูลให้ครบ ถือเป็นกฎเหล็กของการสมัครทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ใช่แค่การสมัครงานอย่างเดียว ซึ่งผู้รับเอกสารต่าง ๆ จะมองภาพรวมของตัวคุณจากการที่คุณปล่อยพื้นที่ว่างๆเอาไว้ด้วย ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ในเรซูเม่นี้ก็เป็นข้อมูลส่วนตัวของคุณเองทั้งนั้น ถ้าคุณปล่อยทิ้งว่าง ๆ เอาไว้เยอะ ๆ ก็แสดงว่าคุณไม่รู้จักตัวเองดีพอ และคนที่ไม่รู้จักตัวเองดีพอ ก็จะยังไม่พร้อมในการสมัครงานอย่างแน่นอน
ตัวอย่างเรซูเม่ที่ใช้พื้นที่ได้ดี
3. ใส่รูปถ่ายสุภาพ ที่แสดงความตั้งใจจริง
การสมัครงานถือว่าเป็นขั้นตอนในระดับมืออาชีพ ซึ่งผู้สมัครงานเองก็จะต้องแสดงความเป็นมืออาชีพออกมาด้วย รูปสมัครงาน ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในระดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ รูปที่ดีที่สุดที่คุณควรจะใส่ในเรซูเม่จึงเป็น รูปติดบัตร ที่จะทำให้เรซูเม่ของคุณเป็นทางการมากพอ ถ้าไม่มีรูปติดบัตร ก็สามารถใช้รูปถ่ายตัวเองหน้าตรง กับพื้นหลังเรียบ ๆ เช่นกำแพงบ้านก็ได้นะ
ส่วนรูปอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รูปติดบัตร จะทำให้คุณเสียโอกาสในการสมัครงานไปไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว รูปที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ที่ HR เคยได้รับในเรซูเม่ แล้วโดนโยนทิ้งลงถังขยะทันทีก็ได้แก่ รูปเซลฟี่ รูปไปเที่ยว รูปถ่ายตัวเองสะท้อนในกระจก(ห้องน้ำ) รูปกับรถ รูปตอนกินหมูกระทะ รูปยืนหันข้าง หันหลัง รูปใส่แว่นกันแดด ใส่มาสก์ มองไม่เห็นหน้าเลย เป็นต้น
4. เขียนรายละเอียดส่วนตัวของตัวเอง การติดต่อให้ชัดเจน
รายละเอียดส่วนตัวถือเป็นอีกสิ่งที่ชี้เป็นชี้ตายในการสมัครงานได้เช่นกัน เมื่อคุณเขียนเรซูเม่มาอย่างดี แต่คุณดันใส่เบอร์โทรศัพท์ตัวเองผิด ในอีเมล์ตัวเองผิด HR ก็ติดต่อนัดคุณไปสัมภาษณ์งานไม่ได้ แล้วคุณก็ไม่รู้ตัวด้วยเช่นกันว่าทำไมไม่ได้งานสักที เรื่องสำคัญแบบนี้อย่ามองข้ามนะครับ เขียนให้ถูก อ่าน ตรวจทาน หลายๆรอบให้ถูกต้องจริง ๆ ไม่อย่างนั้นแล้วน้ำตาจะเช็ดหัวเข่าเอา
สำหรับผู้ที่เขียนที่อยู่ของตัวเอง อยู่คนละจังหวัดกับบริษัท ก็ให้เขียนกำชับให้ดีนะครับว่าเรากำลังหางานในจังหวัดนี้จริง ๆ ไม่ได้สมัครงานข้ามจังหวัดโดยที่เราไม่รู้นะ
5. ใส่รายละเอียดของงานที่เคยทำให้ชัดเจน ยาวมากพอ
มาถึงส่วนสำคัญที่สุดของเรซูเม่สมัครงานกันแล้ว นั้นก็คือส่วนของรายละเอียดในการทำงานที่ผ่านๆมาของคุณ ให้ใส่ข้อมูลให้เยอะมากพอ เคยทำงานตำแหน่งอะไร บริษัทไหนมา ตั้งแต่เมื่อไหร่ ถึงเมื่อไหร่ เรียงลำดับจากงานล่าสุดก่อน ลงไปจนถึงงานเก่าสุดที่คุณเคยทำมา ซึ่งตรงนี้ถ้าคุณเคยผ่านงานมาหลายบริษัทมาก ๆ (เกิน 10 ปี) ก็สามารถเลือกที่จะเขียนเฉพาะบริษัทที่สำคัญๆก็พอแล้ว
และส่วนที่สำคัญมากที่สุดก็คือ หน้าที่การทำงาน ที่คุณจะต้องเขียนสรุปลงไปว่าคุณได้ทำงานอะไรลงไปบ้างในตำแหน่งงานนั้น ๆ ซึ่งจะต้องมีความยาวที่พอดี ไม่น้อยเกินไปจนอ่านจับใจความไม่ได้ และไม่มากเกินไปจนน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง โดยส่วนมากแล้วข้อมูลตรงนี้จะมีความยาวประมาณ 3-5 บรรทัด ต่อตำแหน่งงานที่คุณเคยทำมา ตรงนี้จะมีรายละเอียดมากพอสมควร หากคุณสนใจล่ะก็สามารถอ่านเทคนิคการ ใส่ประสบการณ์ทำงาน ลงในเรซูเม่อย่างมืออาชีพได้
ถ้าหากว่าคุณเป็นบัณฑิตจบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ล่ะก็ ให้ใส่รายละเอียดของประสบการณ์ฝึกงานลงไปในส่วนนี้แทน อย่าปล่อยว่างเอาไว้เด็ดขาด เพราะเมื่อคุณคือเด็กจบใหม่ คู่แข่งของคุณก็คือเด็กจบใหม่เหมือนกัน และ HR ก็มักจะเลือกเด็กจบใหม่ที่มีความเข้าใจ และเขียนรายละเอียดการฝึกงานของตัวเอง เอาไว้ก่อนคนที่ปล่อยว่างเอาไว้อย่างแน่นอน เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็มาใส่ข้อมูลการฝึกงานกันนะครับ
6. ใส่รายละเอียดการศึกษาของตัวเอง
รายละเอียดการศึกษาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คุณจะต้องใส่รายละเอียดการศึกษาของคุณตั้งแต่วุฒิสูง ลงมาถึงวุฒิต่ำ เรียงลำดับลงมา ใส่ชื่อสถานศึกษา คณะ เอก ให้อย่างละเอียด ห้ามเว้นเอาไว้เช่นกัน เพราะว่ามีงานเฉพาะทางหลาย ๆ งานที่จะรับเฉพาะนักศึกษาบางคณะ หรือบางเอกเท่านั้น เช่น วิศวกรรมโยธา สถาปนิกภายใน กฎหมาย เป็นต้น
หลายๆคนมีข้อสงสัยว่า เราจะต้องใส่เกรดเฉลี่ย (GPA) ลงไปด้วยไหม คำตอบคือไม่จำเป็นจะต้องใส่ลงไป ไม่ได้มีการบังคับใด ๆ ถ้าคุณมีเกรดเฉลี่ยอยู่ในระดับ 3.00 ขึ้นไป ถ้าคุณใส่เกรดลงไปด้วย คุณจะเพิ่มโอกาสในการได้งานของคุณ แต่ถ้าคุณมีเกรดที่ต่ำกว่า 2.50 การเลือกที่จะไม่ใส่เกรดลงไปจะทำให้คุณได้งานง่ายกว่านั่นเอง
7. สกิลทางด้านภาษาต่าง ๆ
ต่อไปเป็นความสามารถทางด้านภาษา ที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเรซูเม่ของคุณ พวกเราเชื่อว่าอย่างน้อย ๆ ผู้สมัครงานทุกคนที่ได้อ่านบทความของเรา จะต้องได้ภาษาไทย อย่างน้อยละ 1 ภาษาแน่นอน ก็ให้กรอกลงไปด้วยนะครับว่าคุณสามารถอ่านเขียนพูดไทยได้ เป็นภาษาแม่เลย
ภาษาที่สองที่ควรจะได้กันก็คือภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเก่ง หรือไม่เก่งอย่างไร ก็ควรจะใส่ลงไปในเรซูเม่ด้วย ซึ่งถ้าหากว่าคุณไม่เก่งภาษาอังกฤษจริง ๆ ก็ให้ใส่ว่า Average ก็พอครับ อย่าไปใส่ว่าเก่งมากในระดับภาษาแม่ เดี๋ยวโดนคนอินเดียมาสัมภาษณ์งานแล้วจะขำไม่ออก
ส่วนภาษาที่สามขึ้นไป ถือเป็นกำไรชีวิตของคุณครับ ไม่ว่าคุณจะได้ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อิตาเลียน สแปนิช เยอรมัน ฯลฯ คุณก็สามารถใส่ลงไปได้เช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงภาษาเพื่อนบ้านอย่างภาษาพม่า และภาษาลาวด้วย ถ้าได้ก็ใส่ลงไป
8. สกิลเฉพาะทางต่าง ๆ
สกิลเฉพาะทางต่าง ๆ ที่จะนับเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเท่านั้นครับ เช่น
- สมัครงานโปรแกรมเมอร์: ถ้าหากคุณสามารถเขียนภาษา Java, Php, หรือ .Net ได้ ก็ให้ใส่มันลงไปอย่างชัดเจนว่าคุณเขียนภาษาอะไรได้ ใช้เฟรมเวิร์คอะไรเป็น เคยผ่านเครื่องมืออะไรมาบ้าง
- สมัครงานคลังสินค้า: คุณสามารถขับรถโฟล์คลิฟท์ได้ มีใบขับขี่โฟล์คลิฟท์
- สมัครงานเภสัชกร: คุณสามารถใส่ เลขที่ใบอนุญาต ของเภสัชกรลงไปในนี้ได้
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือ กราฟแสดงค่าพลังว่าคุณเก่งขนาดไหน ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ทุกคนแหล่ะที่คิดว่าตัวเองเก่งจะเต็มหลอดกันทั้งนั้น แต่สุดท้ายหลาย ๆ บริษัทก็มีการสอบเข้าทำงานเพื่อวัดความสามารถของคุณจริง ๆ ถ้าหากว่าคุณเขียนว่าตัวเองเกือบเต็มหลอด แต่ผลสอบออกมาว่าคุณเก่งแค่ระดับพลังสีแดงกระพริบ ๆ ใกล้ตายแล้ว มันจะอับอายขายหน้าเอามาก ๆ เลยนะครับ
9. งานอดิเรก เลือกใส่เฉพาะอันที่มีประโยชน์กับงานจริง ๆ เท่านั้น
งานอดิเรกของคุณ ไม่ว่าจะเป็นดูหนังฟังเพลงต่าง ๆ ถือเป็นข้อมูลที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ดี แต่ถ้าจะให้ดีก็ไม่ต้องใส่ดีกว่า จะได้ไม่ต้องเสียเวลาอ่าน (HR เขาบอกมายังงี้) เพราะว่า เรซูเม่คือพื้นที่สรุป ที่ใช้แสดงถึงประวัติการทำงานของคุณ ซึ่งคุณจะต้องบริหารพื้นที่นี้ให้เป็น (ย้อนกลับไปอ่านข้อ 1) ถ้าคุณปล่อยให้มีที่ว่างมากพอที่จะเขียนเรื่องที่ไม่จำเป็นลงไปล่ะก็ ถือว่าคุณมาผิดทางแล้ว ให้เอางานอดิเรกออกไป แล้วกลับไปใส่ข้อมูลในส่วนอื่นให้มากกว่านี้แทน
แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับบางงานอดิเรกที่มีประโยชน์ และถ้าใส่มันลงไปในเรซูเม่ก็จะมีผลดี ให้ลองอ่านบทความของเราเรื่อง งานอดิเรกที่น่าใส่ในเรซูเม่ ดูนะครับ
10. ธีมเรียบ ๆ มีข้อมูลเต็ม ๆ คือผู้ชนะเหนือคนที่ใช้ธีมเรซูเม่ฉูดฉาด แต่ข้อมูลนิดเดียว
คุณรู้หรือไม่ว่า 99% ของเรซูเม่ที่ได้งาน คือเรซูเม่ที่ใช้ธีมเรียบ ๆ กันทั้งนั้น เพราะว่า HR จะให้ความสำคัญกับข้อมูล การสรุปข้อมูล การจัดเรียงข้อมูลของคุณ ส่วนเรซูเม่ที่มีสีสันฉูดฉาดนั้นส่วนมากมักจะเกิดจากการที่ผู้สมัครงานต้องการทำให้เรซูเม่ของตัวเอง น่าสนใจ มากขึ้น เพราะเห็นว่าข้อมูลของตัวเองไม่มีอะไรน่าสนใจ จึงทำให้ หน้าตา เรซูเม่ของตัวเองมีสีสันฉูดฉาดเพื่อดึงความสนใจ ซึ่งต้องบอกตรง ๆ เลยครับว่ามาผิดทาง คุณควรจะต้องให้ความสำคัญกับข้อมูล และการจัดเรียง มาเป็นอันดับหนึ่งต่างหาก
แต่ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน 1% ของเรซูเม่สีสันฉูดฉาดที่ได้งานนั้น จะเป็นกลุ่มผู้สมัครงานด้านครีเอทีฟ งานด้านกราฟฟิกดีไนเนอร์ เท่านั้น ที่จะต้องเน้นแสดงฝีมือของตัวเองลงในเรซูเม่นั่นเอง แต่ถ้าคุณไม่ได้สมัครงานในกลุ่มนี้แล้วล่ะก็ อย่าใช้ธีมเรซูเม่สีสันฉูดฉาดเลยนะ
11. ส่งเป็นไฟล์ PDF เท่านั้น
เมื่อคุณเขียนเรซูเม่ของตัวเองเสร็จแล้ว ก็อย่าส่งไฟล์ .doc หรือ .docx ให้ HR โดยเด็ดขาด ให้คุณแปลงไฟล์เป็น PDF ก่อนแล้วจึงส่งสมัครงาน เพราะเมื่อนำไปเปิดที่เครื่องไหน ก็จะได้หน้าตาเหมือนกันทั้งนั้น ไม่พัง และไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
รวมไปถึงการส่งเรซูเม่เป็นไฟล์รูปภาพด้วย ถือเป็นการทำงานที่ไม่เรียบร้อยและไม่มืออาชีพเลย รูปภาพอาจดูสวยดีในโทรศัพท์ของคุณ แต่คุณเคยลองเปิดรูปนั้นบนคอมพิวเตอร์จอใหญ่หรือเปล่า? เคยซูมใหญ่ๆเพื่ออ่านข้อความไหม คุณจะเห็นว่าตัวอักษรภาพแตก และบางทีถึงขั้นอ่านไม่ออกเสียด้วยซ้ำ นั่นแหล่ะคือความแตกต่าง ถ้าคุณยังส่งไฟล์เรซูเม่เป็นรูปภาพอยู่ก็เลิกซะ แล้วอัพเกรดมาส่งเรซูเม่เป็นไฟล์ PDF แทนนะครับ
12. ทำเรซูเม่ออนไลน์ กับเว็บไซต์ resume.in.th สิครับ
เข้าสู่ช่วงสุดท้ายกันแล้ว ทิปส์ข้อที่ผ่านๆมาทั้งหมด เว็บเรซูเม่อินไทย (www.resume.in.th) สามารถช่วยให้คุณ สร้างเรซูเม่ออนไลน์ ได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ทิปส์ทุกข้อที่พวกเรากล่าวมาได้อย่างดี ทำให้เรซูเม่ของคุณออกมาดี มีความเป็นมืออาชีพ เป็นระเบียบ ใช้สมัครงานได้ทันที ส่งผลให้คุณได้งานในฝันได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญคือใช้งานฟรีด้วยนะ ฟรีและดีแบบนี้ ลองใช้งานกันดูได้เลย