โปรแกรมเมอร์ เป็นสายงานที่จะต้องเขียนเรซูเม่ลงลึกไปในด้านสายงานโดยเฉพาะ ดังนั้นจะมีวิธีการเขียนที่แตกต่างไปจากสายงานอื่นบ้างบางส่วน จึงทำให้ เรซูเม่ของโปรแกรมเมอร์ มีความยากที่จะเขียนขึ้นมาโดยที่ไม่มีข้อมูล หรือไม่เคยเห็นเรซูเม่ของคนอื่นผ่านตามาก่อน
ในวันนี้พวกเราชาว เรซูเม่อินทีเอช จะมาอธิบายถึงวิธีเขียนเรซูเม่ของโปรแกรมเมอร์อย่างละเอียด ไปจนถึงตัวอย่างของเรซูเม่ โปรแกรมเมอร์ที่ดีๆ น่าเอาเป็นตัวอย่างกัน
ทำความรู้จักกับ Applicant Tracking Systems
Applicant Tracking Systems (ATS) คือระบบที่ช่วยให้ HR สามารถจัดเก็บเรซูเม่ของเราเอาไว้ในฐานข้อมูล และสามารถเรียกค้าหาขึ้นมาดูด้วยคำค้นได้ เรื่องนี้ต้องพูดกันอีกยาวเลย แต่โชคดีว่าพวกเราเป็นโปรแกรมเมอร์กัน พูดสั้นๆแค่นี้ก็จับใจความได้แล้วว่าระบบนี้มีหน้าที่อะไร
ขอไปแบบรวบรัดนะครับ ระบบนี้จะทำหน้าที่กรองผู้สมัครงานที่คุณสมบัติไม่ตรงทิ้งไป และใช้อัลกอริทึ่มในการสแกน เข้าใจ และจัดลำดับของเรซูเม่ให้ขึ้นตามคำค้นหา ดังนั้นเป้าหมายของคุณก็คือ คุณจะต้องเขียนเรซูเม่ที่ระบบนี้สามารถอ่านได้ และทำให้เรซูเม่ของคุณถูกจัดอันดับสูงๆ ในคีย์เวิร์ดที่คุณต้องการ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1. สร้างเรซูเม่ 1 ใบ ต่อตำแหน่งงานที่สมัคร 1 ตำแหน่ง
การสร้างเรซูเม่ 1 ใบต่อ 1 ตำแหน่งจะทำให้คุณเขียนเรซูเม่ได้ละเอียดกว่ามาก และคุณสามารถเฉพาะเจาะจงลงไปในภาษา เทคโนโลยี หรือเฟรมเวิร์คที่คุณถนัดได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
นอกจากนี้โปรแกรมเมอร์ส่วนมากแล้วจะเน้นทำงานลงสายลึก มากกว่าสายเป็ด เวลาสมัครงานส่วนมากแล้วก็จะไม่ค่อยสมัครแบบหว่านๆ จึงไม่มีปัญหาเท่าไหร่นัก
2. เน้นใช้คีย์เวิร์ด ในเรซูเม่
คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าจะต้องใช้คีย์เวิร์ดไหน? ไม่ยากเลย มันอยู่ใน Job Description ของตำแหน่งงานนั้นๆ น่ะแหล่ะ นำคีย์เวิร์ดใส่ลงไปในเรซูเม่ของคุณ แต่อย่าใส่คีย์เวิร์ดซ้ำๆ กันจนเหมือนจับยัดลงไป เพราะว่าระบบนี้ก็แอบฉลาดเหมือนกัน สามารถตรวจจับสแปมได้ หรือถ้าหากว่าเรซูเม่ของคุณผ่านระบบไปได้จริงๆ เมื่อไปถึงสายตา HR ที่เป็นมนุษย์ มันจะดูไม่ดีเอาน่ะสิ!
ถ้าหากว่าคุณเคยทำระบบค้นหาผ่านมา คุณน่าจะเข้าใจดีอยู่แล้วว่า คีย์เวิร์ดที่ตรงเป๊ะๆ ทุกตัวอักษร จะได้คะแนนที่สูงกว่าคีย์เวิร์ดที่สะกดผิดไปตัวหนึ่ง หรือใส่ขีด แทนที่จะเป็นช่องว่าง ดังนั้นให้เลือกใช้คีย์เวิร์ดให้ถูกต้องที่สุด
แนะนำ: ตัวอย่างเรซูเม่สายไอที นักศึกษาจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์
3. อย่าใช้ตาราง อย่าใส่ข้อมูลใน header / footer
โปรแกรม ATS ของบางที่อ่านข้อมูลจากในตาราง หรือหัวกระดาษ ท้ายกระดาษไม่ได้ ดังนั้นอย่าใส่ข้อมูลสำคัญลงไปในนั้น
4. สร้างเรซูเม่เป็นไฟล์ PDF
ไฟล์ PDF ถือว่าเป็นไฟล์ที่ระบบ ATS อ่านได้ง่ายที่สุดไฟล์หนึ่ง ดังนั้นถ้าหากคุณสร้างเรซูเม่ด้วย PDF แล้วล่ะก็ การันตีได้เลยว่าอ่านได้แน่นอน สำหรับบางคนที่สร้างเรซูเม่เป็นไฟล์รูปอย่าง jpg หรือ png ล่ะก็ เสียใจด้วยนะ ระบบนี้ยังไม่สามารถอ่าน OCR ได้
สิ่งสำคัญอื่นๆ ที่จะต้องใส่ลงไปในเรซูเม่ของโปรแกรมเมอร์
นอกจากนี้ หากคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ดีแล้ว คุณยังจะต้องมีสิ่งสำคัญของคุณในเรซูเม่อีกด้วย
1. ภาษา เครื่องมือ และเฟรมเวิร์คที่เคยใช้
พวกเราแนะนำให้สร้างเซกชั่นใหม่ขึ้นมาหนึ่งอันเลย และพูดถึงภาษา เครื่องมือ และเฟรมเวิร์คที่เคยใช้ เพราะมันเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อตัวโปรแกรมเมอร์มากกว่า ประวัติการศึกษา เสียอีก ให้คุณใส่ลงไปว่าคุณสามารถเขียนโค้ดภาษาอะไรได้บ้างในส่วนนี้ ให้เขียนแค่ชื่อของภาษาที่คุณได้ก็พอ ไม่ต้องสาธยายมากว่าเก่งหรือไม่เก่งอะไรยังไง เพราะสิ่งที่จะพิสูจน์ว่าคุณเก่งในระดับไหนก็คือสิ่งต่อไป
2. Personal Git
กิตถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับโปรแกรมเมอร์ ในบางครั้งหัวหน้าทีมซึ่งเป็นคนตัดสินใจว่าจะจ้างคนไหน เลือกที่จะดูเรซูเม่แบบผ่านๆ แล้วใช้เวลาส่วนมากไปกับการตรวจสอบ Git ของคุณ ว่าคุณมีมาตรฐานในการเขียนโค้ดเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งคุณจะเสียเปรียบคนอื่นอย่างมากเลย หากไม่มีกิตของตัวเอง ดังนั้นสร้างขึ้นมาเถอะนะ จะใช้ของอันไหนก็ได้ Github ก็ถือเป็นกิตที่นิยมกันสูงสุด
3. Portfolio
ผลงานของคุณที่ผ่านๆ มา ก็ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน เป็นสิ่งที่แสดงว่าคุณเคยผ่านโปรเจกต์อะไรมาบ้าง ในหลายๆ ครั้งบางโปรเจกต์ก็จะทำให้คุณมีความรู้เฉพาะทางด้วยเช่นกัน เช่นคุณเคยผ่านโปรเจกต์ทางด้านการแพทย์ ถ้าตำแหน่งงานว่างเป็นโปรเจกต์ทางด้านการแพทย์ด้วยแล้วล่ะก็ คุณจะเป็นแคนดิเดทสำคัญทันที
ถ้าหากว่าคุณมีประสบการณ์มาเยอะพอสมควร คุณก็จะมีโปรเจกต์ที่เยอะมาก และเยอะเกินไปที่จะใส่ลงในเรซูเม่ ให้เลือกใส่รายละเอียดของโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่กำลังสมัคร ส่วนโปรเจกต์อื่นอาจพูดถึงแค่ชื่อก็พอ ไม่ต้องลงในรายละเอียดมากนัก นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่พวกเราแนะนำให้ทำเรซูเม่ 1 ใบ ต่อ 1 ตำแหน่งงานที่สมัคร
4. Training Class
ถ้าหากคุณเคยไปเรียนคลาสอะไรที่เกี่ยวกับงานของคุณ ก็ใส่ลงไปให้หมดเลย อย่าลืมว่าให้ใส่ชื่อลงไปให้ตรง อย่าสะกดผิด หรือใส่ชื่อตัวย่อเด็ดขาด เพราะจะมีปัญหาโดยตรงกับโปรแกรม ATS (ลืมไปแล้วหรือยัง)
5. Online Contritution
ถ้าหากว่าคุณมีไอดีของเว็บไซต์ถามตอบชื่อดังอย่าง Stack Overflow ก็ขอให้ใส่มันลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถาม หรือการตอบ ถือว่าดีทั้งนั้น เพราะมันจะเป็นคะแนนแถมให้คุณด้วยว่า คุณอยู่ในคอมมูนิตี้ที่ถูกต้อง และหากคุณมีข้อสงสัย คุณสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องพึ่งใครในออฟฟิศ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าคุณสามารถอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้ดีในระดับที่สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้รู้เรื่อง
ตัวอย่างเรซูเม่ของโปรแกรมเมอร์ เด็ดๆ
มาถึงไฮไลท์ของเราในวันนี้กันแล้ว นี่คือตัวอย่างเรซูเม่ของโปรแกรมเมอร์เด็ดๆ ที่คุณสามารถใช้เป็นตัวอย่างได้