คุณเคยนั่งรอรับอีเมล์ตอบรับการสมัครงาน หลังจากที่คุณได้ส่งใบสมัครไปกว่าร้อยบริษัท โดยที่ไม่มีใครตอบกลับมาเลยไหม บางครั้งไม่ใช่ว่าบริษัทไม่ต้องการจะจ้างคุณหรอก แต่เป็นเพราะว่าคุณใส่อีเมล์ตัวเองผิด จนทำให้ไม่ได้รับอีเมล์นัดสัมภาษณ์งานจากบริษัทนั่นเอง และนั่นคือผลกระทบจากความสะเพร่าของตัวคุณเอง ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยการใส่ข้อมูลส่วนตัว ลงในรูซเม่ให้ถูกต้อง
ในวันนี้เว็บ Resume.in.th จะมาเผยเคล็ดลับการใส่ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลติดต่อลงในเรูซเม่ ที่ถูกต้อง และแน่นอนที่สุดในสามโลก
ในการ เขียนเรซูเม่ นั้น ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลติดต่ออาจจะเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่จะใส่มันลงไป แต่ในบางครั้งก็ยังมีผู้สมัครงานหลายๆท่านที่ยังสะเพร่าใส่ผิดอยู่ จนเป็นเหตุให้เสียทั้งเวลาและโอกาสไปอย่างมากมาย คุณควรจะตรวจทาน และอัพเดทข้อมูลนี้อย่างสม่ำเสมอ และถ้าเป็นไปได้ก็ทำให้ข้อมูลเป็นมืออาชีพ และมือโปรไปด้วยพร้อมกันในทีเดียวเลย อ่านบทความนี้ของพวกเราเพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ่งสิครับ
ข้อมูลสำคัญที่ต้องใส่ในเรซูเม่
ข้อมูลสำคัญในส่วนของข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลติดต่อที่ HR สนใจในเรซูเม่ของคุณมีอะไรบ้างนะ? ไม่ยากเลยใช่ไหม นั่นคือเมื่อ HR ได้อ่านเรซูเม่ของคุณแล้ว และสนใจคุณ จะนัดคุณเข้าไปสัมภาษณ์งาน ก็จะต้องติดต่อคุณก่อนเลย
- ชื่อ นามสกุล
- อีเมล์
- เบอร์โทรศัพท์
- ที่อยู่
นี่คือสี่อย่างที่เป็นพื้นฐานที่สุดที่ คุณจะต้องใส่มันลงไป
ชื่อ นามสกุล
ให้คุณใส่ชื่อและนามสกุลจริงๆของคุณลงไป ห้ามใช้ชื่อเล่นเด็ดขาด และถ้าคุณเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุลที่เขตมา ก็ให้อัพเดทชื่อนามสกุลใหม่ของคุณลงในเรซูเม่ด้วย และให้หลีกเลี่ยงการสมัครงานผ่าน Facebook เพราะหลายๆครั้ง Facebook จะส่งชื่อเล่นของคุณไปให้กับ HR ทำให้ไม่เป็นมืออาชีพอย่างแรง
ที่ผิด: สะมะชาย ยามาฮ่า 150 ซีซี คันแรงของป๋า
ที่ถูกต้อง: นายสมชาย เข็มกลัด
อีเมล์
หลายบริษัทติดต่อคุณทางอีเมล์เพื่อนัดสัมภาษณ์งาน ดังนั้นการใส่อีเมล์ที่คุณเช็คอยู่เรื่อยๆจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ตรวจทานให้ดีว่าอีเมล์ของคุณสะกดถูกต้อง และใช้งานได้อยู่ นอกจากนี้ให้ใช้อีเมล์ที่เป็าทางการ และสุภาพ แทนที่จะใช้อีเมล์ที่ทะลึ่งๆของคุณ ในทางปฏิบัติแล้ว การใส่ชื่อและนามสกุลลงในอีเมล์ของคุณ จะทำให้เป็นทางการที่สุดแล้ว
ที่ผิด: somchai9inch@gmail.com
ที่ถูกต้อง: somchai.khemklad@gmail.com
อีกอย่างหนึ่งก็คือ ให้ใช้ gmail.com ดีกว่า อย่าใช้อีเมล์ของบริษัทที่คุณทำงานอยู่ในปัจจุบัน หรืออีเมล์ของมหาวิทยาลัย เพราะว่านั่นเป็นหนทางสู่หายนะที่พิสูจน์กันมาแล้วทุกปีๆ
หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้
ถึงแม้ว่าในทุกวันนี้ทุกๆคนจะสื่อสารกันทางโทรศัพท์น้อยลง ๆ ไปทุกที ๆ แต่โทรศัพท์เองก็ยังเป็นช่องทางหลักที่ใช้สื่อสารกันอย่างมืออาชีพในองค์กรอยู่ และเมื่อใดที่ HR โทรมานัดสัมภาษณ์คุณ คุณเองก็ต้องเตรียมพร้อมรับโทรศัพท์อยู่เสมอๆ หรือถ้ารับไม่ทันก็ให้รีบโทรกลับไปด่วนที่สุด อย่าทิ้งให้นานเกิน 1 วันเด็ดขาด เพราะว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่คุณจะเสียโอกาสสัมภาษณ์งานนั้นไป
หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ควรจะเป็นโทรศัพท์มือถือที่คุณพกติดตัวอยู่ตลอดเวลา อย่าใส่เบอร์โทรศัพท์บ้านไป ถ้าคุณไม่ได้สิงอยู่ที่โทรศัพท์บ้านวันละ 24 ชั่วโมง
ที่ผิด: ไม่ใส่หมายเลขโทรศัพท์ หรือใส่ผิด
ที่ถูกต้อง: 081 123 4567
นอกจากนี้ถ้าหากว่าคุณมีหมายเลขโทรศัพท์หลายเบอร์ ก็ให้ตรวจสอบให้ดีว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ปัจจุบันของคุณที่สามารถติดต่อได้จริงๆ ไม่ใช่หมายเลขโทรศัพท์เก่าของคุณที่ปิดไปแล้ว
ที่อยู่ที่ติดต่อได้
ทำไมคุณถึงจะต้องใส่ที่อยู่ลงไปในเรซูเม่ของคุณ? ไม่ใช่ว่า HR จะมาเยี่ยมคุณที่บ้าน เคาะประตูบ้านคุณ เพื่อเชิญคุณไปสัมภาษณ์งานหรอกนะ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้ HR เห็นว่าคุณอยู่ในบริเวณที่สามารถเดินทางไปทำงานที่บริษัทได้นั่นเอง และนี่เองก็จะเป็นหนึ่งในคำถามที่จะสัมภาษณ์งานคุณด้วย ว่าคุณสามารถเดินทางไปทำงานได้สะดวกแค่ไหน คุณใช้เวลากี่ชั่วโมงในการเดินทางในแต่ละวัน
- มีหลายบริษัทที่ต้องการพนักงานที่พักอยู่ใกล้กับบริษัท เพื่อให้เดินทางไปทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
- มีหลายบริษัทพร้อมที่จะจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยให้กับพนักงานของพวกเขา เพื่อให้พนักงานมีที่พักที่ใกล้กับบริษัท และสามารถเดินทางได้สะดวก คุณเพียงแค่ติดต่อสอบถามเข้าไปที่บริษัทว่ามีบริการนี้ไหม
ที่ผิด: ถนนลาดพร้าว กทม
ที่ถูกต้อง: 123 ซอยลาดพร้าว 1 แยก 1 ถนนลาดพร้าว แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กทม 10999
นอกจากนี้ถ้าหากว่าคุณอยู่ในหอพัก คอนโด หรืออาคารต่างๆ ก็ต้องใส่เลขที่ห้อง และชั้น ลงไปด้วย เพื่อให้ HR ดูแล้วรู้ทันทีว่าคุณมีตัวตนจริงๆ สามารถติดต่อคุณได้จริงๆ
แนะนำ: ข้อมูล 6 อย่าง ที่จะต้องใส่ลงในเรซูเม่สมัครงาน
สรุป
- ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลติดต่อเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในเรซูเม่ของคุณ ข้อมูลจะต้องถูกต้อง ตรงไปตรงมา และกระชับ
- อย่าทำให้ HR ติดต่อคุณไม่ได้ ด้วยการใส่หมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล์ที่ใช้ไม่ได้ หรือสะกดผิดเด็ดขาด
- ถ้าหากว่าคุณสมัครงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้โซเชียลมีเดีย ก็ให้ใส่ลิงก์ Facebook, Twitter, IG, หรือ Youtube ของคุณลงไปได้